Boiler and Industrial Law
กฎกระทรวง หม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและภาชนะรับแรงดันในโรงงาน
ประกาศกระทรวงเรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549
เรื่อง คุณสมบัติน้ำสำหรับหม้อน้ำ พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549
เรื่อง อุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ. 2549 ลงวันที่ 31 ต.ค. 2549
อ่านต่อ ที่นี้ http://www.diw.go.th/diw/fac_safety22.asp
วิสรัส เอี่ยมประชา
วุฒิวิศวกรเครื่องกล วก.829
www.gmcworkshop.com
25 พฤศจิกายน2551
ระยะห่างระหว่าง Boiler ตามกฏหมายกำหนด
|
บทความพิเศษ กฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับ...หม้อไอน้ำในประเทศไทย
โดย อ.วงกต วงศ์อภัย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หม้อไอน้ำ (Boiler) สามารถจัดได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญยิ่งในระบบการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันหม้อไอน้ำจัดว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายอันจะนำมาซึ่งอันตรายขณะใช้งานสูงหากปราศจากการบำรุงรักษาที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ ซึ่งอันตรายที่เกิดขึ้นอาจสามารถสร้างความสูญเสียต่อทรัพยากรบุคคลและทรัพย์สินได้เป็นอย่างมาก
กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะของหน่วยงานหลักของประเทศที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศ จึงได้ประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เพื่อควบคุมการใช้งานของหม้อไอน้ำให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติสากลและปลอดภัยต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยในบทความนี้จะนำบางส่วนของกฏหมายควบคุมการประกอบการที่เกี่ยวกับการใช้หม้อไอน้ำที่สำคัญของประเทศไทยมานำเสนอเป็นบางส่วน ดังนี้
1. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 44 ลงวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2535
มีเนื้อหาและสาระสำคัญคือ การแบ่งประเภท ชนิดและขนาดของโรงงานอุตสาหกรรมการกำหนดลักษณะของเครื่องจักรและข้อกำหนดการตั้งโรงงาน การกำกับดูแลโรงาน และบทกำหนดโทษต่างๆ
2. กฏกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535)
ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 108 ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2535
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
กฏกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535)
หมวด 2 เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงาน
ข้อ 6 เครื่องจักร เครื่องอุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานต้องเป็นดังต่อไปนี้
(1) มั่นคง แข็งแรง และเหมาะสม และในกรณีมีเหตุอันควร รัฐมนตรีจะกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้การนำเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสิ่งที่นำมาใช้ในโรงงานชนิดใดต้องมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้
(2) ใช้เครื่องจักรที่มีความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดความสั่นสะเทือนเสียง หรือคลื่นวิทยุ รบกวนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
(3) มีเครื่องป้องกันอันตรายอันอาจเกิดจากส่วนที่เคลื่อนไหวของเครื่องจักรตามความจำเป็นเหมาะสม
(4) บ่อหรือถังเปิดที่ทำงานสนองกันกับเครื่องจักรที่อาจเป็นอันตรายในการปฏิบัติงานของคนงาน ต้องมีขอบหรือราวกั้นแข็งแรงและปลอดภัยทางด้านที่คนเข้าถึงได้สูงไม่น้อยกว่า 100 เซนติเมตร จากระดับพื้นที่ติดกับบ่อหรือถังนั้น
(5) หม้อไอน้ำ (boiler) หม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซหรือเป็นสื่อนำความร้อน เครื่องอัดก๊าซ (compressor) หรือถังปฏิกิริยา (reactor) และระบบท่อ เครื่องจักรหรือภาชนะที่ทำงานสนองกัน โดยมีความกดดันแตกต่างจากบรรยากาศ ซึ่งใช้กับหม้อไอน้ำ หม้อต้มที่ใช้ ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อน เครื่องอัดก๊าซ หรือถังปฏิกิริยาดังกล่าว ต้องได้รับการออกแบบคำนวณ และสร้างตามมาตรฐานที่ยอมรับ หรือผ่านการทดสอบความปลอดภัยในการใช้งาน โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาการติดตั้งต้องมั่นคงแข็งแรงปลอดภัยในการใช้งาน มีอุปกรณ์ความปลอดภัย และมีส่วนประกอบที่จำเป็นตามหลักวิชาการ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(6) ภาชนะบรรจุที่มีความกดดันต่างจากบรรยากาศ (pressure vessel) ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับ มีอุปกรณ์ความปลอดภัยและส่วนประกอบที่จำเป็นตามหลักวิชาการ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่น ที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(7) ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด วัตถุเคมี หรือของเหลวอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมที่มีขนาดของภาชนะบรรจุตั้งแต่ 25,000 ลิตรขึ้นไปต้องมั่นคงแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับโดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและต้องสร้างเขื่อนหรือกำแพงคอนกรีตโดยรอบให้มีขนาดที่สามารถจะกักเก็บปริมาณของวัตถุดังกล่าวได้ทั้งหมด เว้นแต่กรณีที่มีภาชนะบรรจุมากกว่าหนึ่งถังให้สร้างเขื่อนที่สามารถเก็บกักวัตถุอันตรายนั้น เท่ากับปริมาตรของถังเก็บขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของวัตถุที่บรรจุได้อย่างมีประสิทธิภาพในกรณีเมื่อเกิดวิบัติแก่ภาชนะดังกล่าว และต้องจัดให้มีวัตถุหรือเคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการระงับหรือลดความรุนแรงของการแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ
ในกรณีที่ภาชนะบรรจุนั้นตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องมีสายล่อฟ้าให้เป็นไปตามหลักวิชาการและภาชนะบรรจุที่อาจเกิดประจุไฟฟ้าสถิตย์ได้ในตัวต้องต่อสายดิน
(8) การติดตั้งท่อและอุปกรณ์สำหรับส่งวัตถุตามท่อต้องเป็นไปตามหลักวิชาการที่ยอมรับกัน
(9) ระบบไฟฟ้า การเดินสายไฟฟ้า และการติดตั้งเครื่องยนต์ไฟฟ้า สวิทซ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าอื่น ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการที่ยอมรับกันโดยมีคำรบรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 8 โรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อนที่มีความกดดันต่างจากบรรยากาศ ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีผู้ควบคุม (Operator) ประจำหม้อไอน้ำ (Boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อน ทั้งนี้ โดยผู้ควบคุมดังกล่าว ต้องมีคุณวุฒิได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างกลโรงงาน หรือช่างยนต์ หรือช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ (Boiler) จากกระทรวงอุตสาหกรรม หรือสถาบันอื่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับรอง
โรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ขนาดกำลังผลิตตั้งแต่ 20 ตันต่อชั่วโมงขึ้นไป นอกจากต้องดำเนินการจัดให้มีผู้ควบคุมดังกล่าวแล้ว ผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นวิศวกรผู้ควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ด้วย
ข้อ 9 โรงงานที่ประกอบกิจการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำ (Boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อนผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมหรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นผู้ควบคุมการสร้างหรือการซ่อม
3. กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2535)
ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 108 ลงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2535
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
กฏกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2535)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 8 (7) แห่ง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 2 โรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อนที่มีความกดดันต่างจากบรรยากาศต้องจัดทำรายงานข้อมูลการตรวจและการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
ข้อ 3 โรงงานที่ประกอบกิจการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำ (Boiler) หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวหรือก๊าซเป็นสื่อนำความร้อนที่มีความกดดันต่างจากบรรยากาศต้องจัดทำรายงานข้อมูลการผลิต การตรวจและการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
ข้อ 6 ให้โรงงานที่มีการผลิต การเก็บ หรือการใช้วัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ต้องจัดทำข้อมูลความปลอดภัย (Material Safety Data Sheet) เกี่ยวกับลักษณะอันตรายตามคุณสมบัติของวัตถุนั้นๆ
4. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2528)
ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 เรื่องหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 102 ตอนที่ 27 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2528
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2528)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39(12) และ (16) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมีหน้าที่ต้องกระทำการ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทหรือชนิดที่มีการใช้หม้อไอน้ำสำหรับประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย ดังนี้
1.1 ต้องติดตั้งลิ้นนิรภัย (Safety Valve) อย่างน้อย 2 ชุด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบ่าลิ้นนิรภัยไม่น้อยกว่า 15 มิลลิเมตร ที่สามารถตรวจทดสอบการใช้งานได้ง่ายสำหรับหม้อไอน้ำที่มีพื้นที่ผิวรับความร้อนน้อยกว่า 50 ตารางเมตร จะมีลิ้นนิรภัยเพียง 1 ชุด ก็ได้ในการติดตั้งลิ้นนิรภัยต้องไม่มีลิ้นเปิดปิด (Stop Value) คั่นระหว่างหม้อไอน้ำกับลิ้นนิรภัย และต้องมีท่อระบายไอน้ำจากลิ้นนิรภัยไปยังที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย
1.2 ต้องติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำชนิดหลอดแก้วไว้ให้เห็นได้ชัดพร้อมลิ้นปิดเปิดเพื่อตรวจสอบระดับน้ำและต้องมีท่อระบายไปยังที่เหมาะสมปลอดภัย ทั้งนี้ต้องจัดให้มีเครื่องป้องกันหลอดแก้วด้วย
1.3 ต้องติดตั้งเครื่องวัดความดันไอน้ำ (Pressure Gauge) ขนาดหน้าปัทม์เส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 100 มิลลิเมตร มีสเกลสามารถวัดความดันได้ 1.5 ถึง 2 เท่า ของความดันใช้งานสูงสุดและต้องมีเครื่องหมายแสดงระดับความดันอันตรายไว้ให้เห็นได้ชัดเจน
1.4 ต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเข้าหม้อไอน้ำ (Feed Water Pump) ขนาดความสามารถอัดน้ำได้อย่างน้อย 1.5 เท่า ของความดันใช้งานสูงสุด และความสามารถในการสูบน้ำเข้าต้องมากกว่าอัตราการผลิตไอน้ำ
1.5 ต้องติดตั้งลิ้นกันกลับ (Check Value)ที่ท่อน้ำเข้าหม้อไอน้ำโดยติดตั้งให้ใกล้หม้อไอน้ำมากที่สุดและมีขนาดเท่ากับท่อน้ำเข้า
1.6 ต้องติดตั้งลิ้นจ่ายไอน้ำ (Main- Steam Value) ที่ตัวหม้อไอน้ำ
1.7 โรงงานที่มีหม้อไอน้ำตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป ที่ใช้ท่อจ่ายไอน้ำร่วมกันต้องติดตั้งลิ้นกันกลับ (Check Value) ที่ท่อหลังลิ้นจ่ายไอน้ำ (Main Steam Value) ของหม้อไอน้ำแต่ละเครื่อง
1.8 หม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงเหลว เช่น น้ำมัน ก๊าซ ต้องติดตั้งเครื่องควบคุมความดัน (Pressure Control) และเครื่องควบคุมระดับน้ำอัตโนมัติ (Water Level Control)
1.9 ต้องติดตั้งสัญญาณเตือนอัตโนมัติ (Automatic Alarm) แจ้งอันตรายเมื่อระดับน้ำในหม้อไอน้ำต่ำกว่าระดับใช้งานปกติ
1.10 ต้องจัดให้มีฉนวนหุ้มท่อจ่ายไอน้ำโดยตลอด
1.11 ท่อน้ำ ท่อจ่ายไอน้ำ ลิ้นปิดเปิดทุกตัวและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้กับหม้อไอน้ำ ต้องเป็นชนิดที่ใช้สำหรับหม้อไอน้ำเท่านั้น และเหมาะสมกับความดันใช้งานด้วย
1.12 หม้อไอน้ำที่สูงเกินกว่า 3 เมตรจากพื้นต้องติดตั้งบันไดและทางเดินไว้รอบหม้อไอน้ำ
1.13 ต้องจัดให้มีลิ้นปิดเปิด (Blow Down Value) เพื่อระบายน้ำจากส่วนล่างสุดของหม้อไอน้ำ ให้สามารถระบายได้สะดวกไปยังที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย
ข้อ 2 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทหรือชนิดที่มีการใช้หม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน (ชนิดที่มีความดันสูงกว่าความดันบรรยากาศ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงหม้อไอน้ำและใช้งานคล้ายคลึงกับหม้อไอน้ำ) สำหรับประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดให้มีการตรวจทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานของหม้อไอน้ำ หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อความร้อนทุกๆ ปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยวิศวกรสาขาเครื่องกลประเภทสามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร หรือผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษให้ตรวจทดสอบหม้อไอน้ำตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 แล้วส่งเอกสารรับรองความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำ หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อความร้อน ตามแบบที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด ไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้ตรวจทดสอบ
"สำหรับหม้อไอน้ำขนาดกำลังผลิตไอน้ำตั้งแต่ 20 ตันต่อชั่วโมงขึ้นไป ที่มีการออกแบบโครงสร้างการผลิตและใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายตามมาตรฐานสากล หากประสงค์จะตรวจทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานภายในระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี ต่อการตรวจทดสอบหนึ่งครั้ง ก็ให้กระทำได้โดยได้รับความเห็นชอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเสียก่อน ทั้งนี้ต้องมีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของน้ำสำหรับหม้อไอน้ำให้มีคุณภาพเป็นมาตรฐานสากลต้องมีห้องปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบคุณภาพนี้ สำหรับหม้อไอน้ำและต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานในการควบคุมหม้อไอน้ำ โดยมีวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำรับรอง ส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทุกๆ 6 เดือน |
ข้อ 3 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทหรือชนิดที่มีการใช้หม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน (ชนิดที่มีความดันสูงกว่าความดันบรรยากาศซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงหม้อไอน้ำและใช้งานคล้ายคลึงกับหม้อไอน้ำ) สำหรับประกอบกิจการโรงงานต้องจัดให้มีผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน (Operator) ที่มีคุณวุฒิได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างกลโรงงาน หรือช่างยนต์ หรือช่างผู้ชำนาญงาน ที่ผ่านการทดสอบฝึกอบรมหลักสูตรผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือสถาบันอื่นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับรอง
ข้อ 4 ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ประกอบกิจการโรงงานสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนต้องจัดให้มีวิศวกรสาขาเครื่องกลผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505 เป็นผู้ควบคุมการสร้างหรือซ่อม
ข้อ 5 วิศวกรผู้ตรวจทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน ผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน วิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ และวิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนตามที่กล่าวไว้ในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามระเบียบและวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด
ข้อ 6 กรณีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรควบคุม และอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ วิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานใดลาออก หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือขาดต่ออายุการขึ้นทะเบียน หรือไม่ได้รับการอนุญาตให้ต่ออายุการขึ้นทะเบียน หรือถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียน ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรายนั้น ต้องแจ้งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบทันที และจัดหามาทดแทนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ข้อ 7 ประกาศฉบับนี้ให้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528
(นายอบ วสุรัตน์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
5. ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) และฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศ ที่ระบายออกจากโรงงาน
ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 110 ตอนที่ 109 ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2536 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 113 ตอนที่ 74 ง ลงวันที่ 12 กันยายน 2539 ตามลำดับ
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536)
ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
เรื่อง กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 แห่ง กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจึงออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานไว้ดังนี้
ข้อ 1 อากาศที่สามารถระบายออกจาโรงงาน ต้องมีค่าปริมาณของสารแต่ละชนิดเจือปนไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ลำดับที่ | ชนิดของสารเจือปน | แหล่งที่มาของสาร | ค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศ (mg/m3) |
ฝุ่นละออง (Particulate) | หม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงดังนี้ |
| |
น้ำมันเตา | 300 | ||
ถ่านหิน | 400 | ||
เชื้อเพลิงอื่นๆ | 400 | ||
การถลุง หล่อหลอม รีดดึง และ/หรือผลิตเหล็กกล้า อลูมิเนียม | 300 | ||
การผลิตทั่วไป | 400 | ||
พลวง (Antimony) | การผลิตทั่วไป | 20 | |
สารหนู (Arsenic) | การผลิตทั่วไป | 20 | |
ทองแดง (Copper) | การหลอมหรือการถลุง | 30 | |
ตะกั่ว (Lead) | การผลิตทั่วไป | 30 | |
คลอรีน (Chlorine) | การผลิตทั่วไป | 30 | |
ไฮโดรเจนคลอไรด์ (Hydrogen Chloride) | การผลิตทั่วไป | 200 | |
ปรอท (Mercury) | การผลิตทั่วไป | 3 | |
คาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbon Monoxide) | การผลิตทั่วไป | 1,000 หรือ 870 ส่วนในล้านส่วน | |
กรดกำมะถัน (Sulfuric Acid) | การผลิตทั่วไป | 100 หรือ 25 ส่วนในล้านส่วน | |
ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) | การผลิตทั่วไป | 140 หรือ 100 ส่วนในล้านส่วน | |
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide) | การผลิตกรดซัลฟูริค | 1,300 หรือ 500 ส่วนในล้านส่วน | |
ออกไซด์ของไนโตรเจน (Oxides of Nitrogen) | หม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงดังนี้ | (วัดในรูปไนโตรเจนไดออกไซด์) | |
- ถ่านหิน | 740 หรือ 500 ส่วนในล้านส่วน | ||
- เชื้อเพลิงอื่นๆ | 470 หรือ 250 ส่วนในล้านส่วน | ||
ไซลีน (Xylene) | การผลิตทั่วไป | 870 หรือ 200 ส่วนในล้านส่วน |
ข้อ 2 การวัดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานให้วัดอากาศที่ระบายออกจากปล่องในขณะประกอบกิจการโรงงาน
ในกรณีที่ ไม่มีปล่องให้วัดที่ช่องระบายอากาศ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าน่าจะมีปริมาณของสารเจือปนระบายออกมากที่สุด
ข้อ 3 ระดับค่าปริมาณของสารแต่ละชนิดที่เจือปนในอากาศ ให้คำนวณเทียบที่ความดัน 1 บรรยากาศ และอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
ประกาศ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2536
(พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2539)
ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2539
เรื่อง กำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน (เพิ่มเติม)
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 16 แห่ง กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความใน พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงาน ดังนี้
ข้อ 1 อากาศที่สามารถระบายออกจากโรงงานต้องมีค่าปริมาณของสารเจือปนที่ปริมาณอากาศส่วนเกินร้อยละ 20 ไม่เกินค่าที่กำหนดไว้ ดังต่อไปนี้
ชนิดของสารเจือปน
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide)
แหล่งที่มาของสาร
การเผาไหม้ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง
ค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศ
1,250 ส่วนในล้านส่วน
ข้อ 2 การวัดค่าปริมาณของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานให้วัดอากาศที่ระบายออกจากปล่องในขณะประกอบกิจการโรงงาน ในกรณีที่ไม่มีปล่องให้วัดที่ช่องระบายอากาศ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะมีปริมาณของสารเจือปนระบายออกมากที่สุด
ข้อ 3 ระดับค่าปริมาณของสารที่เจือปนในอากาศให้คำนวณเทียบที่ความดัน 1 บรรยากาศและอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเฉพาะโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดสมุทรปราการ
ประกาศ ณ วันที่ 3 กันยายน 2539
(นายสนธยา คุณปลื้ม)
รักษาราชการแทนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
6. ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2528
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ
วิศวกรตรวจทดสอบหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน
วิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน
และผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน
พ.ศ. 2528
ตามความในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2528) ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 เรื่องหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจัดให้มีวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ วิศวกรตรวจสอบหม้อไอน้ำ หรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำ หรือ หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและบุคคลดังกล่าวต้องขึ้นทะเบียนตามระเบียบและวิธีการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงวางระเบียบและวิธีการขึ้นทะเบียนไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำวิศวกรตรวจสอบหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน วิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน และผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน พ.ศ. 2528
อนึ่งคำว่า "หม้อต้มฯ" ที่จะกล่าวต่อไปในระเบียบนี้ให้หมายถึง หม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน (ชนิดที่มีความดันสูงกว่าความดันบรรยากาศ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงหม้อไอน้ำและใช้งานคล้ายคลึงกับหม้อไอน้ำ)
ข้อ 2 คุณสมบัติผู้ขอขึ้นทะเบียน
2.1 วิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ วิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ต้องเป็นวิศวกรสาขาเครื่องกล ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505
2.2 วิศวกรตรวจทดสอบหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ต้องเป็นวิศวกรสาขาเครื่องกลประเภทสามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร หรือผู้ได้รับใบอนุญาตพิเศษให้ตรวจสอบหม้อไอน้ำตามพระราชบัญญัติวิชาชีพวิศวกรรม พ.ศ. 2505
2.3 ผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาช่างกลโรงงานหรือช่างยนต์หรือช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการทดสอบหลักสูตรฝึกอบรมผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ จากกรมแรงงานอุตสาหกรรมหรือสถาบันอื่นที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับรอง
ข้อ 3 วิธีการขอขึ้นทะเบียน
3.1 ให้ผู้มีคุณสมบัติตามความในข้อ 2 ยื่นคำขออนุญาตขึ้นทะเบียน พร้อมเอกสารต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อกรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นชอบจะออกหนังสืออนุญาตให้ขึ้นทะเบียนให้ไว้เป็นหลักฐาน
3.2 การขึ้นทะเบียนให้มีอายุครั้งละ 3 ปีปฏิทิน นับแต่ปีที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกหนังสืออนุญาตให้ขึ้นทะเบียน หากประสงค์จะต่ออายุการขึ้นทะเบียน ให้ยื่นคำขอต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนวันที่หนังสืออนุญาตให้ขึ้นทะเบียนจะหมดอายุ เมื่อยื่นคำขอต่ออายุแล้ว ให้ถือว่ายังอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนอยู่ จนกว่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมจะแจ้งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ
3.3 คำขออนุญาตขึ้นทะเบียนคำขอต่ออายุหนังสือนุญาตให้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ตามแบบท้ายระเบียบนี้
ข้อ 4 หน้าที่และความรับผิดชอบของวิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หม้อไอน้ำ
4.1 ต้องควบคุมดูแลผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำ (Operator) ให้ควบคุมดูแลประจำหม้อไอน้ำตลอดเวลา
4.2 ต้องวางแผนและจัดทำแผนในการใช้งานหม้อไอน้ำโดยปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
4.3 ต้องวางแผนและจัดทำแผนในการบำรุงรักษาให้หม้อไอน้ำมีความมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยอยู่เสมอ
4.4 ต้องควบคุมดำเนินการแก้ไขและซ่อมแซมหม้อไอน้ำให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน และจัดให้มีการตรวจทดสอบเพื่อความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4.5 เมื่อพบข้อบกพร่องของหม้อไอน้ำ ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายร้ายแรงให้หยุดใช้หม้อไอน้ำเพื่อทำการซ่อมแล้วแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและกรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบทันที
ข้อ 5 หน้าที่และความรับผิดชอบของวิศวกรตรวจทดสอบหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ
5.1 ต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจทดสอบหม้อไอน้ำดังต่อไปนี้
1. ปั๊มน้ำแรงดันสูงสามารถอัดน้ำทดสอบได้เกินกว่า 1.5 เท่าของความดันใช้งานปกติของหม้อไอน้ำ
2. เครื่องทดสอบลิ้นนิรภัย (Safety Valve)
3. เครื่องทดสอบเกจวัดความดัน (Pressure Gauge)
4. เครื่องวัดความหนาของเหล็ก (Ultrasonic Thickness) ชนิดอ่านเป็นตัวเลข
5. อุปกรณ์วิเคราะห์คุณภาพน้ำ
5.2 เมื่อตรวจทดสอบพบว่าหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ หรือส่วนประกอบและหรืออุปกรณ์ของหม้อไอน้ำหรือของหม้อต้มฯ อยู่ในสภาพไม่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดำเนินการปรับปรุง แก้ไขซ่อมแซม หรือเปลี่ยนให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยต่อการใช้งานโดยด่วน
5.3 การตรวจทดสอบหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ต้องดำเนินการตามข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์ในการตรวจทดสอบหรือตามหลักวิชาการของวิศวกรรม และกรอกรายงานการตรวจตามแบบเอกสารรับรองความปลอดภัยในการใช้หม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ตามแบบท้ายระเบียบนี้
ข้อ 6 หน้าที่และความรับผิดชอบของวิศวกรควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ
6.1 ต้องควบคุมการสร้างหรือซ่อมหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ให้เป็นไปตามแบบแปลนและรายละเอียดที่ผ่านการรับรองจากวิศวกรแล้วเท่านั้น
6.2 จัดทำรายงานเกี่ยวกับขนาดและจำนวนพร้อมแบบแปลนและรายละเอียดของหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯที่สร้างหรือซ่อม และสถานที่ที่นำไปติดตั้งส่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมทราบก่อนที่จะนำไปติดตั้ง
ข้อ 7 หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ควบคุมประจำหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ
7.1 ต้องอยู่ดูแลประจำหม้อน้ำหรือหม้อต้มฯ ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานในหน้าที่
7.2 ต้องตรวจความเรียบร้อยของหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ก่อนเดินเครื่องและขณะเดินเครื่องพร้อมทั้งนำบันทึกรายงานประจำวันตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้
7.3 บันทึกรายงานประจำวันของหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ ต้องจัดเก็บไว้ให้เรียบร้อยพร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูได้ตลอดเวลา
7.4 เมื่อพบว่าหม้อไอน้ำหรือหม้อต้มฯ มีข้อบกพร่องอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต้องหยุดการใช้งานทันทีแล้วรายงานให้วิศวกรควบคุมและอำนวยการใช้หรือผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือผู้รับผิดชอบทราบโดยด่วน
ข้อ 8 การเพิกถอนการขึ้นทะเบียน
กรณี ผู้ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบของตนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4, 5, 6, 7 หรือรายงานเท็จ หรือเป็นวิศวกรซึ่งอยู่ในระหว่างพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือใบอนุญาตของ ก.ว. หมดอายุกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะพิจารณาเพิกถอนการขึ้นทะเบียนและอาจดำเนินการตามที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเห็นควร ต่อไป
ประกาศ ณ วันที่ 16 เมษายน 2528
(นายจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์)
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
7. ประกาศกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ.2519)
เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
มีเนื้อหาและสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้หม้อไอน้ำ ดังนี้
ประกาศกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2519)
หมวด 2 ความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อไอน้ำ
ข้อ 11 ให้นายจ้างซึ่งใช้หม้อน้ำปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) หม้อไอน้ำที่ใช้ต้องมีคุณภาพแข็งแรง สามารถทนความดันไอน้ำ (Safety Factor) ได้สูงไม่น้อยกว่าสี่เท่าของความดันที่ใช้งานปกติ
(2) รอบหม้อไอน้ำต้องมีฉนวนป้องกันการกระจายความร้อนตามผิวโดยรอบ
(3) ฐานรากที่ตั้งของหม้อไอน้ำและปล่องควัน ต้องจัดทำให้มั่นคง แข็งแรงโดยวิศวกรโยธา ซึ่ง ก.ว. รับรองเป็นผู้กำหนดและติดตั้งสายล่อฟ้าที่บนปล่องควันด้วย ทั้งนี้ไม่รวมถึงหม้อไอน้ำ และปล่องควันที่ใช้กับยานพาหนะ
(4) หม้อไอน้ำ ต้องจัดให้มีลิ้นปลอดภัย (Safety Valve) ที่ปรับความดันไอน้ำให้ถูกต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งชุด และต้องไม่มีลิ้นปิดเปิด(Stop Valve) คั่นระหว่างหม้อไอน้ำกับลิ้นปลอดภัย
(5) ต้องติดตั้งเครื่องวัดความดันไอน้ำที่ผลิตได้ซึ่งมีเครื่องหมายแสดงระดับความดันอันตรายไว้ให้เห็นได้ชัด
(6) ต้องติดตั้งเครื่องระดับน้ำชนิดเป็นหลอดแก้วไว้ให้เห็นได้ชัด และต้องมีเครื่อง ป้องกันหลอดแก้วไว้ด้วย
(7) ต้องติดตั้งสัญญาณเปล่งเสียงแจ้งอันตราย ในเมื่ออุปกรณ์หรือหม้อไอน้ำขัดข้องอันอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้
(8) แผงควบคุมอัตโนมัติและเครื่องวัดต่างๆ ของหม้อไอน้ำต้องติดตั้งไว้ ณ ที่ซึ่งผู้ควบคุมสามารถมองเห็นเปลวไฟ ระดับน้ำและสัญญาณต่าง ๆ ได้ง่าย
(9) ต้องจัดทำท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ต่อไปยังเครื่องควบคุมการทำงาน
(10) ภาชนะที่บรรจุแก๊สสำหรับใช้ในการติดไฟครั้งแรก ต้องเก็บไว้ในที่ปลอดภัยจากประกายไฟ และลิ้นปิดเปิดต้องไม่รั่วซึม
(11) ถังน้ำมันเชื้อเพลิงต้องติดตั้งไว้ ณ สถานที่ปลอดภัยจากการลุกไหม้และท่อน้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่รั่วหรือซึม การวางท่อน้ำมันเชื้อเพลิงต้องวางไว้ในที่ปลอดภัยและไม่กีดขวาง ในกรณีที่ใช้ไม้ฟืนขี้เลื่อย หรือวัสดุอื่นที่เป็นเชื้อเพลิงต้องจัดทำที่เก็บหรือเครื่องปิดบังให้ปลอดภัย
(12) ต้องทำฉนวนสีแดงห่อหุ้มท่อจ่ายไอน้ำโดยตลอด
(13) ต้องทำการตรวจซ่อมหม้อไอน้ำทุกส่วนไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งครั้ง และได้รับการรับรองผลการตรวจจากวิศวกรเครื่องกล ซึ่ง ก.ว. รับรอง และผลของการตรวจสอบทางไฮโดรสแตติก (Hydrostatic) ของหม้อไอน้ำ ต้องมีค่าไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของความดันสูงสุดที่กำหนดให้ใช้สำหรับหม้อไอน้ำนั้น
(14) ต้องทำความสะอาดบริเวณรอบที่ตั้งหม้อไอน้ำมิให้มีคราบน้ำมันหรือสิ่งอื่นที่ติดไฟง่าย
ข้อ 12 ให้นายจ้างจัดทำระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยในการตรวจอุปกรณ์หม้อไอน้ำทุกอย่างก่อนลงมือทำงานและแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ
ข้อ 13 ผู้ควบคุมหม้อไอน้ำ ต้องเป็นช่างชั้นต้นซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกเครื่องกล หรือแผนกช่างกลโรงงานหรือช่างชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกรมแรงงานสาขาช่างยนต์หรือช่างกลโรงงานหรือช่างผู้ชำนาญงานที่ผ่านการทดสอบจากสถาบันของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันอื่น ซึ่งกรมแรงงานรับรองว่าเป็นผู้สามารถควบคุมหม้อไอน้ำหรือช่างผู้ชำนาญงานที่ปฏิบัติงานภายใต้การควบคุมของวิศวกรซึ่ง ก.ว. รับรอง
ข้อ 14 การใช้หม้อไอน้ำที่มีอายุเกิน 10 ปี ต้องลดความดันที่ใช้งานสูงสุดลงจนหม้อไอน้ำนั้นสามารถทนความดันที่ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 6 เท่า
ข้อ 15 หม้อไอน้ำที่มีการเคลื่อนย้ายที่ติดตั้งแล้ว ต้องลดความดันที่ใช้งานสูงสุดลงจนหม้อไอน้ำนั้นสามารถทนความดันที่ใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 5 เท่า
ข้อ 16 เครื่องมือไฟฟ้าที่มีที่ครอบโลหะอยู่ส่วนใช้สำหรับจับถือ ซึ่งใช้ในการปฏิบัติงานซ่อมและบำรุงรักษาหม้อไอน้ำที่เปรียบชื้นหรือพื้นเป็นโลหะต้องต่อสายดิน หรือจัดทำด้วยวิธีอื่นใดที่อาจป้องกันอุบัติเหตุ เนื่องจากไฟฟ้ารั่วได้
ข้อ 17 ถ้ามีหม้อไอน้ำติดตั้งอยู่ในห้องโดยเฉพาะห้องนั้นจะต้องมีทางออกได้ไม่น้อยกว่าสองทางซึ่งอยู่คนละด้าน และถ้าภายในห้องหม้อไอน้ำมีชั้นปฏิบัติงานหลายชั้น จะต้องทำทางออกไว้ทุกชั้นและต้องไม่มีสิ่งกีดขวางทางออกด้วย และเมื่อไฟฟ้าดับให้มีแสงสว่างฉุกเฉินส่องไปยังทางออกและเครื่องวัสดุต่างๆ รวมทั้งแผงควบคุมให้เห็นได้อย่างชัดเจน
ข้อ 18 หม้อไอน้ำที่สูงเกินกว่า 10 ฟุตจากพื้น ต้องทำบันไดและทางเดินไว้รอบหม้อไอน้ำเพื่อให้ผุ้ควบคุมหรือซ่อมแซมเดินได้โดยปลอดภัยบันไดและทางเดินนี้ต้องมีราวสำหรับจับและที่พื้นต้องมีขอบกั้นปลาย (Toe Board)